วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

มาบตาพุดอ่วมก๊าซรั่วซํ้า ล้มป่วยระนาว

มาบตาพุดอ่วมก๊าซรั่วซํ้า ล้มป่วยระนาว





สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐ

"ก๊าซบิวเทน-วัน" รั่ว! ชาวมาบตาพุดระทม ล้มป่วยหามส่ง รพ.ระนาว 62 ราย เผยวาล์วเรือสินค้าที่เทียบท่ารั่ว ขณะโหลดสินค้าลงเรือขนส่งไปสิงคโปร์ "อานันท์" ลงพื้นที่ถกชาวบ้าน-ผู้ประกอบการ รับฟังปัญหาข้อเสนอแนะ ผงะกลิ่นสารเคมีหึ่ง จวกยับ "กนอ." ทำงานเช้าชามเย็นชาม หลังเกิดเหตุก๊าซรั่ว โวยปิดข่าวไม่แจ้งชาวบ้าน สร้างภาพลบให้องค์กรต่ำเตี้ยลงอีก

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่าเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุก๊าซบิวเทน-วัน (Butene-1) รั่วไหลออกเซฟตี้วาล์วของเรือ GLOBAL HIME (โกลบอล ไฮม์) เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะจอดเทียบท่าโหลดสินค้าอยู่ที่ท่าเทียบเรือมาบตาพุด แทงก์ เทอร์มินอล ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง เพื่อนำไปส่งที่ประเทศสิงคโปร์ มีชาวบ้านสูดดมก๊าซเข้าไปเกิดล้มป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่ รพ.กรุงเทพระยอง 18 ราย และในช่วงเช้าวันที่ 6 ธ.ค.นี้ มีชาวบ้านล้มป่วยเข้ารับการรักษาเพิ่มเติมอีก 44 ราย รวมเป็น 62 ราย ในจำนวนนี้มี 7 รายอาการหนัก แพทย์ต้องให้นอนพักรักษาตัวเพื่อเฝ้า ดูอาการอย่างใกล้ชิด

ต่อมาเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 6 ธ.ค. นพ.ชัชวาล ประดิษฐ์วงศ์สิน แพทย์เจ้าของไข้ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงและเด็ก โดยมีอาการแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และหมดเรี่ยวแรง จึงตรวจรักษาพร้อมสั่งยาให้รับประทานและอนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องเฝ้าสังเกตอาการ เพราะมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว จากการตรวจสอบพบผู้ป่วยได้รับกลิ่นก๊าซ บิวเทน-วัน มีลักษณะคล้ายก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซแอลพีจี ซึ่งไม่ใช่สารอันตราย แต่หากได้รับในปริมาณมากก็ทำให้ขาดออกซิเจน และอาจทำให้เสียชีวิตได้

วันเดียวกัน นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือคณะกรรมการ 4 ฝ่าย นำคณะกรรมการลงพื้นที่ชุมชนบ้านหนองแฟบ เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เพื่อรับฟังปัญหาและความคิดเห็นจากชาวบ้านผู้ฟ้องร้องคดีทั้ง 43 ราย และชาวบ้านจาก ต.เนินกะปรอก อ.บ้านฉาง และ อ.ปลวกแดง ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ระหว่างรถบัสของคณะเดินทาง มาถึงบ้านหนองแฟบ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและผาแดงมากนัก นายอานันท์ถึงกับบ่นเมื่อได้กลิ่นเหม็นคล้ายก๊าซไข่เน่าโชยมาตามลม และเปรย ว่าเข้าใจแล้วว่าชาวบ้านต้องเจอกับอะไรบ้าง เพราะขนาดช่วงกลางคืนเวลาประมาณ 5 ทุ่มเศษ ๆ แถวโรงแรมแห่งหนึ่งที่เข้าพักยังได้กลิ่นสารเคมี แต่คงไม่สามารถระบุหรือกล่าวโทษได้ว่ามาจากแหล่งใดหรือ โรงงานไหน

ต่อมานายอานันท์ และคณะกรรมการ พร้อมนายสยุมพร ลิ่มไทย ผวจ.ระยอง เดินทางไปที่สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะการจัดการมลพิษในประเด็นที่มีการร้องเรียนจากชาวบ้าน โดยนายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตัวแทนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และผู้ประกอบการ 5 บริษัทเข้าร่วมรับฟังและตอบข้อซักถาม

นายวีระพงศ์ เปิดเผยว่า ปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกับชุมชนรอบโรงงาน เริ่มเกิดปัญหามาตั้งแต่ปี 2540 ที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นจากอุตสาหกรรม และต้องใช้เวลาเกือบ 5 ปีในการจัดการ กระทั่งปี 2548 ก็เกิดปัญหาเรื่องวิกฤติภัยแล้งขึ้น ทำให้เกิดข้อขัดแย้งและการแย่งใช้น้ำ ระหว่างอุตสาหกรรมกับชาวบ้าน และปัจจุบันเกิดปัญหาสาร อินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (วีโอซี) เกินมาตรฐานตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมาแก้ปัญหา โดยเฉพาะประเด็นการฟ้องร้องต่อศาล และมีคำตัดสินให้ 65 โครงการจาก 76 โครงการในเขตอุตสาหกรรม ที่ส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอาร์ไอแอล และนิคมเอเชีย ตะวันออกต้องระงับตามคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ กนอ.จะเชิญผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาตโครงการมารับฟังการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 8 ธ.ค.นี้

รองผู้ว่า กนอ. ยังกล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการระเหยของสารวีโอซี ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามสารวีโอซีในบรรยากาศจากแหล่งกำเนิด ซึ่งในช่วงปี 2551 ที่เกิดปัญหา พบมีการรั่วมากถึง 600 จุด แต่ขณะนี้จัดการปัญหาได้เกือบหมดแล้ว ส่วนการประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษในเขตมาบตาพุด ขณะนี้ได้เก็บข้อมูลอุตุนิยมฯและคุณภาพอากาศเกือบครบ 1 ปีแล้ว คาดว่าจะสรุปผลได้ในช่วงเดือน ม.ค. 2553 และจะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป

นายวีระพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันในช่วงปี 2550 ทางคณะกรรมการศึกษาหาความสัมพันธ์ของสารมลพิษกับปัญหาทางด้านสุขภาพของชาวบ้าน ก็ได้ว่าจ้างให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ดีจากการดำเนินการตามแผนลดและขจัดมลพิษระหว่างปี 2550-2554 โดยเฉพาะก๊าซซัล เฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนได ออกไซด์ มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ จากความร่วมมือของผู้ประกอบการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมนายอานันท์ได้ซักถามถึงเรื่องก๊าซบิวเทน-วัน รั่วไหล เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนายอานันท์และคณะกรรมการลงพื้นที่ โดย นายวีระพงศ์ได้รายงานให้ทราบ พร้อมชี้แจงว่าได้ส่งข้อมูลรายงานมายังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กับ กนอ.แล้ว และหลังเกิดเหตุสั่งการให้เรือลำดังกล่าวถอนสมอ ออกจากฝั่งประมาณ 10 กม. ทันที เพื่อให้ซ่อมแซมและมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศ แต่ไม่ได้ประกาศแจ้งเตือนชาวบ้าน เพราะกว่ากระบวนการรายงานตามขั้นตอนจะแล้วเสร็จก็ปาเข้าไปเวลา 17.00 น. หรือราว 5 โมงเย็น จนมีรายงานว่ามีชาวบ้านที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุล้มป่วย 17 ราย โดยในช่วงเช้าวันที่ 6 ธ.ค. ได้เดินทางไปเยี่ยมแล้ว และได้รับรายงานว่ามีชาวบ้านทยอยเข้ารับการรักษาในรพ.อีกจำนวนหนึ่ง จึงได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และจะเดินทางไปเยี่ยมเป็นการส่วนตัวในโอกาสต่อไป

หลังนายอานันท์รับฟังรายงานและการชี้แจงก็มีสีหน้าไม่พอใจ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กนอ. มีศักยภาพในการควบคุมนิคมและโรงงานในนิคมได้หรือไม่ เพราะขนาดก๊าซรั่ว ซึ่งถือเป็นเหตุฉุกเฉิน แต่ยังใช้ระบบราชการ ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามไม่ทันกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นอีกครั้งที่เสริมภาพลักษณ์ในทางที่ไม่ดีของ กนอ.กับชุมชน ในฐานะที่มาลงพื้นที่ฟังแล้วรู้สึกเป็นห่วงมาก ๆ และหนักใจมากกับ ปัญหาในพื้นที่

"ถ้าดูจากเอกสารที่แต่ละโรงงาน ได้รายงานผลการแก้ปัญหามลพิษในพื้นที่ก็ ดูสวยดี และบอกว่าแก้ได้ แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่ดี ขาดประสิทธิภาพ และทำให้ภาพลักษณ์การบริหารงานของกนอ.ที่ไม่ดีอยู่แล้วแย่กันใหญ่จากการคุยกับคนบางกลุ่มเป็นการ ภายในและส่วนตัว ส่วนใหญ่บอกถึงเรื่องในแง่ไม่ดีของ กนอ. กับโรงงาน ตรงนี้อยาก ฝากว่าการดำเนินธุรกิจซีเอสอาร์ หรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ไม่ใช่แค่การสร้างภาพลักษณ์ ไม่ใช่การขายของเท่านั้น กระทรวงทรัพยากรฯ มีการให้ข้อมูลว่ามีอิทธิพลการเมืองแทรกแซง และการตั้งรับกับปัญหาในพื้นที่บางเรื่องยังแค่เริ่มเตรียมการ คงไม่ทันกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น" นายอานันท์กล่าวตำหนิอย่างตรงไปตรงมา

ขณะที่ นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงกำลังเข้ามาประเมินศักยภาพการรองรับของแหล่งน้ำในเขตภาคตะวันออก เนื่องจากมี การร้องเรียนเรื่องการแย่งกันใช้น้ำระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน และกำลังศึกษาผลกระทบของวีโอซีในแหล่งน้ำใต้ดินด้วย


หาแหล่งก๊าซรั่ว"มาบตาพุด"ไม่เจอ ตรวจซ้ำ"โรงปุ๋ยแห่งชาติ-บ่อบำบัดน้ำเสีย"

--------------------------------------------------------------------------------
วันที่ 16 ธ.ค. 2552
หนังสือพิมพ์มติชน

ก๊าซ"มาบตาพุด"รั่วเป็นปริศนา จนท.ตรวจทั้งนอก-ในนิคมฯไม่พบสิ่งผิดปกติ ให้กนอ.จัดชุดร่วมกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสากรรม ตำรวจ ตัวแทนชาวบ้านตรวจซ้ำโรงปุ๋ยแห่งชาติ บ่อบำบัดน้ำเสีย สงสัยเป็นต้นเหตุให้เกิดกลิ่น

นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ประชุมร่วมกับ พล.ต.ต.สุวิระ ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (รอง ผบช.ภ.2) พล.ต.ต.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) ระยอง นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อหารือผลการตรวจสอบกลิ่นก๊าซที่รั่วไหลใกล้โรงไฟฟ้าโกลว์ ถนนไอ 5 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วย รวม 6 คน โดยประชุมที่ห้องประชุม กนอ.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จากการตรวจสอบยังไม่พบว่าก๊าซรั่วจากที่ใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมดังกล่าวใช้เวลา 2 ชั่วโมง โดยปิดห้องประชุมไม่ให้สื่อมวลชนเข้าฟัง ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ชุดตรวจกลิ่นก๊าซ เป็นผู้รายงานผลการตรวจสอบโรงงาน ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนอกเขตนิคมฯ รวมทั้งสิ้น 17 แห่ง

นายสยุมพรแถลงถึงผลการประชุมว่า เจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบโรงงานที่อยู่ในนิคมฯ และชุดตรวจสอบของอุตสาหกรรม จ.ระยอง ที่ตรวจโรงงานนอกนิคมฯ ผลการตรวจสอบรวมทั้งสิ้น 17 โรง เป็นการตรวจสอบระบบการทำงานในวันเกิดเหตุก๊าซรั่วไหลว่ามีการทำงานระบบเผาทิ้ง ระบบน้ำเสีย จุดเก็บสารเคมี และการซ่อมบำรุง ปรากฏว่าไม่พบสิ่งผิดปกติ

"สิ่งที่พบในบางจุดที่อาจจะต้องตรวจสอบซ้ำโดยละเอียดอีกครั้งว่า เป็นสาเหตุให้เกิดมลพิษหรือไม่ เช่น โรงปุ๋ยแห่งชาติกำลังตัดโครงสร้างเหล็ก หรือระบบบำบัดน้ำเสียบางแห่งที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น ชุดตรวจสอบซ้ำจะเป็นชุดของ กนอ.กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้แทนชุมชน" นายสยุมพรกล่าว

นายสยุมพรกล่าวว่า การป้องกันในการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ภาคประชาชนต้องการให้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง มีอุปกรณ์การตรวจวัดก๊าซอุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งบุคลากรจากหลายฝ่าย และเป็นที่น่ายินดีที่ฝ่ายโรงงานให้ความร่วมมือจัดรถเคลื่อนที่ออกตรวจการเริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม

"หลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่แต่มีความยากลำบาก ต่อไปนี้จะมุ่งป้องกันเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม" นายสยุมพรกล่าว

ด้านนายวีรพงศ์กล่าวว่า การตรวจสอบโรงงานนั้น วิเคราะห์สาเหตุทางเทคนิคแล้วยังไม่มีข้อบ่งชี้สิ่งผิดปกติ อย่างไรก็ตาม จะสอบสวนรายละเอียดเพิ่มเติมอีก 2-3 แห่ง คาดว่ามีประเด็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นที่เกิดขึ้น รวมทั้งประเด็นในส่วนที่เป็นทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับทางด้านภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศของพื้นที่ กระบวนการทำให้เกิดปรากฏการณ์อากาศกดต่ำลง การระบายก๊าซจากปล่องโรงงานไฟฟ้าอาจเกิดปัญหาถูกกดอยู่ในพื้นดิน นี่เป็นอีกประเด็นทางด้านเทคนิค ทางการนิคมฯจะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลการศึกษาประกอบด้วย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ วันที่ 16 ธันวาคมนี้ จะมีการหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ถูกศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับจำนวน 65 โครงการ ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นจากการหารือสถานะโครงการพบว่า มีโครงการที่ซ้ำกันอยู่ 3 โครงการ จึงเหลือเพียง 62 โครงการ แยกเป็น 1.ประกอบกิจการแล้ว 8 โครงการ เงินลงทุน 29,439 ล้านบาท 2.อยู่ระหว่างก่อสร้าง 29 โครงการ วงเงินลงทุน 180,871 ล้านบาท 3.ยื่นคำขออนุญาตและอยู่ระหว่างรอ 18 โครงการ วงเงินลงทุน 26,673 ล้านบาท 4.ยังไม่ยื่นขอคำร้องและไม่ทราบสถานะ 7 โครงการ วงเงินลงทุน 13,121 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 250,104 ล้านบาท แบ่งเป็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เงินลงทุน 142,205 ล้านบาท ผลกระทบต่อเนื่อง สัญญาผู้รับจ้าง 45,492 ล้านบาท ค่าปรับที่เกี่ยวข้อง 2,792 ล้านบาท และจำนวนคนว่างงาน 15,101 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมข้อมูลเพื่อรายงานโครงการที่เกี่ยวข้อง มี 7 โครงการ แบ่งเป็นโครงการที่ได้รับการยกเว้นการคุ้มครองจากศาลปกครองกลาง 3 โครงการ และโครงการที่ต้องดำเนินงานตามมาตรา 67 (2) จำนวน 4 โครงการ ทั้งนี้โครงการที่ถูกระงับของกระทรวงพลังงานจะเกิดผลกระทบทำให้ขาดแคลนก๊าซแอลพีจี และเกิดการว่างงาน 12,000 คน และคนว่างงานทางอ้อม 36,000 คน นอกจากนี้จะมีผลกระทบด้านการตกลงระหว่างประเทศ เรื่องสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากการระงับโครงการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปลายน้ำไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิต ตลอดจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญามูลค่าสูญเสียกว่า 2.6 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการประชุมครม.เศรษฐกิจได้ประเมินว่า โครงการที่ถูกระงับส่วนใหญ่อยู่ในช่วงก่อสร้าง ทั้ง กนอ. และ กรอ. รวม 29 โครงการ วงเงิน 180,817 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาระการลงทุนของประเทศและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ และมีผลกระทบต่อแรงงาน 15,000 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น