วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ประวัติการทำแผนที่ประเทศไทย


สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 12

ประวัติการทำแผนที่ประเทศไทย โดย พลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ

การทำแผนที่แบบตะวันตกโดยคนไทยเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ. ๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยทหารช่างขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ให้นายเฮนรี อะลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) (ซึ่งเคยรับราชการสถานทูตอังกฤษ แล้วเข้ามารับราชการไทยเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์) เป็นหัวหน้า นายนาวาเอก ลอฟทัส (Lophtus) เป็นผู้ช่วย และมีหม่อมราชวงศ์ แดง(หม่อมเทวาธิราช) นายทัด (พระยาสโมสรสรรพการ) นายสุด (พระยาอุดรกิจพิจารณ์) และ หม่อมราชวงศ์แปลก (พระยาสากลกิจประมวล)ทั้ง ๔ นายนี้ เป็นนายทหารในกรมทหารมหาดเล็ก ให้เข้ารับการอบรมฝึกหัดในหมวดทำแผนที่นี้
งานที่ได้ทำไป ได้แก่ การทำแผนที่บริเวณถนนเจริญกรุง บริเวณใกล้พระราชวัง และบริเวณปากอ่าวเพื่อการเดินเรือ และใช้เป็นแนวทางป้องกันทางทะเลด้านอ่าวไทย
ใน พ.ศ. ๒๔๒๓ ทางรัฐบาลอังกฤษได้ขออนุญาตให้สถาบันการแผนที่อินเดีย เข้ามาทำการวัดต่อสายสามเหลี่ยมสายเขตแดนตะวันออกโดยเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพื่อสร้างหมุดหลักฐานแผนที่ที่ภูเขาทอง (กรุงเทพ) และที่พระปฐมเจดีย์ (นครปฐม) และโยงต่อออกไปจนถึงบริเวณปากอ่าว เพื่อจะได้โยงยึดเข้าด้วยกันกับสายหมุดหลักฐานที่สถาบันการแผนที่อินเดียได้ทำเข้ามาทางทะเล สำหรับใช้ในการสำรวจแผนที่ทางทะเล มีนายร้อยเอก เอช. ฮิลล์ (H. Hill) เป็นหัวหน้ากองแผนที่ นายเจมส์ แมคคาร์ที เป็นผู้ช่วย และเป็นผู้นำระบบโครงข่ายสามเหลี่ยมเข้ามา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตและโปรดเกล้าฯ ให้นายอะลาบาสเตอร์ ดำเนินการให้นายแมคคาร์ทีได้เข้ามาทำงานกับรัฐบาลไทยภายหลังเสร็จงานของสถาบันการแผนที่อินเดีย
นายเจมส์ แมคคาร์ที ได้เริ่มเข้ารับราชการไทยเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๔ โปรดเกล้าฯ ให้สังกัดสมุหพระกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในบังคับบัญชาของนายพันโทพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ผู้บังคับการ
การทำแผนที่แบบตะวันตกในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่นายแมคคาร์ทีเข้ารับราชการไทย ได้ใช้หลักมูลฐานขนาดมิติทรงวงรี เอเวอเรสต์ ในการสำรวจทำแผนที่ตลอดมา ชื่อทรงวงรี "เอเวอเรสต์" มาจากชื่อของนายพันเอกเอเวอเรสต์นายทหารช่างชาวอังกฤษผู้เป็นหัวหน้าสถาบันการแผนที่อินเดียในสมัยที่อินเดียยังขึ้นกับอังกฤษ
การทำแผนที่ซึ่งได้จัดทำก่อนสถาปนาเป็นกรมแผนที่เริ่มแรกในตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๒๔ เป็นการสำรวจสำหรับวางแนวทางสายโทรเลขระหว่างกรุงเทพฯ และมะละแหม่ง (Moulmein) ผ่านระแหง (ตาก) ในการนี้นายแมคคาร์ทีได้ทำการสำรวจสามเหลี่ยมเล็กโยงยึดกับสายสามเหลี่ยมของอินเดียที่ยอดเขาซึ่งอยู่ทางตะวันตกของระแหงไว้ ๓ แห่ง งานแผนที่ที่ใช้สำรวจมีการวัดทางดาราศาสตร์และการวางหมุดหลักฐานวงรอบ (traverse)
เมื่อเสร็จงานสำรวจวางแนวทางสายโทรเลขแล้ว พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้มีรับสั่งให้นายแมคคาร์ทีดำเนินการตั้งโรงเรียนแผนที่ คัดเลือกนักเรียนจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จากจำนวน ๓๐ คน ใช้สถานที่เรียนที่ตำหนักสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (กรมพระจักรพรรดิพงศ์)ซึ่งอยู่ในบริเวณพระราชวังบางปะอิน ใช้เวลาเรียนประมาณ ๓ เดือน แล้วย้ายกลับมากรุงเทพฯ คัดเลือกได้ผู้ที่จะเป็นช่างแผนที่ได้ ๑๐ คน เริ่มสำรวจทำแผนที่มาตราส่วนขนาดใหญ่บริเวณสำเพ็ง
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๕ นายแมคคาร์ทีได้รับคำสั่งให้ไปสำรวจทำแผนที่บริเวณลุ่มแม่น้ำตืน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำปิง บริเวณต้นแม่น้ำตืนเป็นป่าไม้สักหนาแน่น ได้มีกรณีพิพาทเรื่องเขตระหว่างเชียงใหม่กับระแหง เกี่ยวกับ สิทธิการเก็บภาษีอากร เสร็จงานทำแผนที่รายนี้แล้ว ก็ต้องไปทำแผนที่กำหนดเขตแดนระหว่างรามัญ (มณฑลปัตตานี) กับเปรัค (อาณานิคมของอังกฤษ) ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๖ เวลานั้นได้รับรายงานมีการก่อการไม่สงบจากพวกฮ่อในภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางราชการเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องมีการสำรวจทำแผนที่บริเวณที่เกิดความไม่สงบ
ในการไปทำงานแผนที่ครั้งนี้ มีนายเจ. บุช (J.Bush) และช่างแผนที่ไทย ๗ นาย เป็นกองทำแผนที่ และทางราชการได้จัดกองทหาร ๒๐๐ คน มีนายลีโอโนเวนส์ (Leonovens) เป็นผู้บังคับบัญชาควบคุมไปด้วย ทั้งคณะได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๒๖ โดยทางเรือ ถึงสระบุรีแล้วเดินทางทางบกต่อไปถึงนครราชสีมา และเดินทางต่อไปผ่านพิมาย ภูไทสง และกุมภวาปีไปถึงหนองคายริมฝั่งแม่น้ำโขง จากหนองคาย ให้นายบุชเดินทางต่อไปยังหลวงพระบาง ส่วนนายแมคคาร์ทีเดินทางต่อไปยังเวียงจันทน์ก่อน แล้วต่อไปยังเชียงขวาง ผ่านเมืองฝางและเมืองจัน แล้วจึงล่องตามลำน้ำจันมาออกแม่น้ำโขงกลับมายังหนองคายอีก แล้วเดินทางต่อไปถึงหลวงพระบาง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ได้กำหนดการไว้ว่าจะอยู่ทำงานที่บริเวณนี้ในระหว่างฤดูฝน แต่นายบุชได้ล้มป่วยลงและได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๖ เนื่องจากไข้พิษ ดังนั้นต้นเดือนกรกฎาคม นายแมคคาร์ ได้ยกกองกลับกรุงเทพฯ
นายแมคคาร์ทีรับราชการได้ประมาณ ๒ ปีก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระวิภาคภูวดลเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๖
ภายหลังจากนั้นกองแผนที่ไทยได้นายดี.เจ.คอลลินส์ (D.J.Collins) ช่างแผนที่จากสถาบันการแผนที่อินเดียเข้ามารับราชการไทย เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ซึ่งเหมาะกับเวลาที่จะยกกองออกไปภาคเหนือ พระวิภาคภูวดลจึงได้ยกกองออกเดินทางในเดือนพฤศจิกายนมีนายคอลลินส์ไปด้วย และมีหน่วยทหารคุ้มกันซึ่งมีนายเรือโทรอสมุสเซน (Rosmussen) เป็นผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ๓๐ คน เดินทางทางเรือผ่านชัยนาท นครสวรรค์ไปถึงอุตรดิตถ์แล้วเดินทางทางบกถึงน่าน
จากน่านไปหลวงพระบาง ได้แยกกองออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งนำโดยนายคอลลินส์ และนายเรือโทรอสมุสเซน ไปทางบก อีกกลุ่มหนึ่งนำโดยพระวิภาคภูวดล ไปทางท่านุ่น แล้วเดินทางทางน้ำไปบรรจบกันที่หลวงพระบาง
กลุ่มพระวิภาคภูวดลได้ผ่านเมืองจุก (หงสาวดี) มีทุ่งพื้นราบยาวประมาณ ๖x๑๐ ไมล์ล้อมรอบด้วยภูเขา มีภูเขาไฟ ๒ ลูก โผล่ให้เห็น ชื่อ ภูไฟใหญ่ และภูไฟน้อย พระวิภาคภูวดลได้แวะไปดูภูไฟใหญ่ มีทางขึ้นไปถึงปากปล่องภูเขาไฟ ทรงวงรี ขนาด ๑๐๐x๕๐ หลา ปากปล่องภูเขาไฟข้างหนึ่งสูงกว่าอีกข้างหนึ่งประมาณ ๕๐ ฟุต เมื่อเอาเศษไม้แห้งใส่เข้าไปตามรอยแตกร้าวไม่ช้าได้ยินเสียงเหมือนไฟคุขึ้นมีควันออกมา และต่อมาเห็นไฟไหม้ขึ้นมาที่เศษไม้นั้น แต่ ที่รอยแตกร้าวอื่นจะเห็นมีแต่ควันขึ้นมา
เมื่อเดินทางต่อไปถึงท่านุ่น ริมแม่น้ำโขงกลุ่มของพระวิภาคภูวดลได้เดินทางทางน้ำไปพบกันกับอีกกลุ่มหนึ่งที่หลวงพระบาง จากหลวงพระบาง กองแผนที่ได้เดินทางต่อไปยังทุ่งเชียงคำซึ่งเป็นที่ตั้งกองทหารไทย กำลังทำการปราบพวกก่อการร้ายฮ่อ เมื่อเสร็จธุรกิจกับข้าหลวงที่กำลังทำการปราบฮ่อ ได้ยกกองทำแผนที่ไปที่หลวงพระบาง และทำการบุกเบิกสำรวจและทำแผนที่ภูมิประเทศบริเวณเหนือของแม่น้ำโขง และตะวันออกของหลวงพระบาง แล้วยกกองกลับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๗
กองการแผนที่คงเป็นส่วนหนึ่งในสังกัดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จนถึงวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๘ จึงได้มีพระบรมราชโองการสถาปนาขึ้นเป็นกรมทำแผนที่ แยกออกจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และมีพระวิภาคภูวดลเป็นเจ้ากรม กรมทำแผนที่เปลี่ยนชื่อหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเป็นกรมแผนที่ทหารมาจนปัจจุบันนี้
ภายหลังตั้งกรม พระวิภาคภูวดลได้ขึ้นไปภาคเหนืออีกสองครั้ง เพื่อทำแผนที่ให้แก่กองทัพครั้งสุดท้ายไปที่เมืองเทิง ซึ่งอยู่ทางเหนือของหลวงพระบาง และเวลานั้นเป็นที่ตั้งกองทัพของพระยาสุรศักดิ์มนตรี (ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยา) และได้กลับกรุงเทพฯ ปลาย พ.ศ. ๒๔๒๙
ปีต่อมารัฐบาลไทยได้ทำสัญญากับบริษัทพูชาร์ด (Puchard) ให้สำรวจแนวทางสำหรับสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ พระวิภาคภูวดลได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนรัฐบาล ติดตามช่างของบริษัทที่ทำการนี้ด้วย ภายหลังเมื่อเสร็จงานนั้นแล้วมีนายช่างของบริษัทคนหนึ่งชื่อ สไมลส์ (Smiles) ได้เข้ามาสมัครทำงานที่กรมแผนที่
ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ มีงานแผนที่สำคัญที่ต้องทำ เป็นงานสำรวจทำแผนที่กำหนดเขตแดน ระหว่างไทยกับพม่าทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ
ได้มีการเริ่มทำแผนที่สามเหลี่ยมบริเวณภาคเหนือ ตั้งต้นที่เชียงใหม่ วัดโยงยึดติดต่อกับโครงข่ายการสามเหลี่ยมภาคตะวันออกของสถาบันการแผนที่อินเดีย มีการวัดเส้นฐานที่ทุ่งนาเมืองเชียงใหม่ (และมีการทำแผนที่ด้วยโซ่และเข็มทิศในบางภาคของมณฑลพายัพด้วย) นายสไมลส์ซึ่งได้เข้ารับราชการกรมแผนที่ได้ร่วมทำงานการสามเหลี่ยมครั้งนี้ด้วย โดยตั้งต้นที่เชียงขวางไปถึงหลวงพระบาง วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงเทศาจิตวิจารณ์ (ภายหลังเป็นพระยามหาอำมาตย์) ได้รับคำสั่งให้กลับกรุงเทพฯ เนื่องจากได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหาร มีการตั้งกระทรวง และทางราชการได้ให้ไปรับตำแหน่งทางกระทรวงมหาดไทย งานแผนที่สามเหลี่ยมได้ดำเนินไปจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระวิภาคภูวดลได้รับคำสั่งได้ยกกองกลับกรุงเทพฯ เนื่องจากได้เกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ทางฝ่ายฝรั่งเศสยึดเอาดินแดนซึ่งกองแผนที่ได้สำรวจไว้แล้วทางเหนือและตะวันออกของแม่น้ำโขง พระวิภาคภูวดลได้ยกกองกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖
ในระหว่างฤดูสำรวจ พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๓๗ ได้มีการทำแผนที่การสามเหลี่ยมออกจากกรุงเทพฯ ไปทางจันทบุรี และมีการทำแผนที่ภูมิประเทศ โดยโซ่และเข็มทิศในต่างจังหวัด เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับทำแผนที่ประเทศไทย
นายอาร์ ดิบบลิว กิบลิน (R.W. Giblin) ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้ากรมแผนที่ ได้เข้ารับราชการไทยเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๗ ทางกรมแผนที่ได้พยายามจะต่อสายสามเหลี่ยมให้โยงยึดเข้าด้วยกันกับสายสามเหลี่ยม ซึ่งได้จัดทำไปแล้วทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูสำรวจ พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๔๓๘ แต่มีอุปสรรคบางประการจึงต้องเลิกล้มความตั้งใจนั้น
พระวิภาคภูวดลได้ให้นายกิบลินและนายสไมลส์ไปทำการแผนที่จากเสียมราฐถึงบาสสักที่บาสสักได้มีการวัดทางดาราศาสตร์หาลองจิจูดของบาสสัก ใช้วิธีโทรเลขและการวัดทางดาราศาสตร์หาเวลาอย่างละเอียดระหว่างกรุงเทพฯ กับบาสสัก ระหว่างที่ไปทำการแผนที่ครั้งนี้ นายสไมลส์ได้ป่วยเป็นโรคบิด ถึงแก่กรรมที่บ้านจันและได้มีการฝังศพไว้ที่สังขะ เมื่อสิ้นฤดูสำรวจนายกิบลินได้ยกกองกลับกรุงเทพฯ
การรวบรวมข้อมูลและการเขียนแผนที่ประเทศไทยได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จและจัดพิมพ์ขึ้นได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษใน พ.ศ. ๒๔๓๙ ภาษาอังกฤษได้พิมพ์ที่ลอนดอน เพราะเวลานั้นกรมแผนที่ยังไม่มีเครื่องมือพิมพ์ดีพอที่จะทำงานนี้สำเนาฉบับต่อมาจึงได้พิมพ์ที่กรมแผนที่

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การจัดเก็บข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์

ข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial data) เป็นข้อมูลที่สามารถอ้างอิงกับตำแหน่งภูมิศาสตร์ (Geo-referenced) ทางภาคพื้นดิน แสดงสัญลักษณ์ได้ 3 รูปแบบ คือ

- จุด (point) ได้แก่ ที่ตั้งหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จุดตัดของถนน จุดตัดของแม่น้ำ

- เส้น (line) ได้แก่ ถนน ลำคลอง แม่น้ำ

- พื้นที่ หรือรูปปิดหลายเหลี่ยม (Area or Polygons) ได้แก่ พื้นที่เพาะปลูกพืช พื้นที่ป่า ขอบเขตอำเภอ ขอบเขตจังหวัด

2. ข้อมูลเชิงคุณลักษณะ (Non-spatial data) เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะต่างๆ ในพื้นที่นั้นๆ ข้อมูลเชิงคุณลักษณะ (Attributes) ได้แก่ ข้อมูลถือครองที่ดิน ข้อมูลปริมาณธาตุอาหารในดิน และข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม



ลักษณะข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Characteristics)

ในการจัดเก็บข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ จำแนกโดยลักษณะการจัดเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. รูปแบบแรสเตอร์ (Raster or grid representation) คือ จุดของเซล ที่อยู่ในแต่ละช่วงสี่เหลี่ยม (grid) โครงสร้างของ Raster ประกอบด้วยชุดของ grid cell หรือ pixel หรือ picture element cell ข้อมูลแบบ Raster เป็นข้อมูลที่อยู่บนพิกัดตารางแถวนอนและแถวตั้ง แต่ละ cell อ้างอิงโดยแถวและสดมภ์ ภายใน grid cell จะมีข้อมูลตัวเลขซึ่งเป็นตัวแทนสำหรับค่าใน cell นั้น

2. รูปแบบเวกเตอร์ (Vector representation) ตัวแทนของเวกเตอร์นี้อาจแสดงด้วย จุด เส้น หรือ พื้นที่ซึ่งถูกกำหนดโดยจุดพิกัด ซึ่งข้อมูลประกอบด้วยจุดพิกัดทางแนวราบ (X,Y) และ/หรือ แนวดิ่ง (Z) หรือ Cartesian Coordinate System ถ้าข้อมูลมีการจัดเก็บตำแหน่งเดียวก็จะเป็นค่าของจุด ถ้าจุดพิกัดสองจุดหรือมากกว่าก็เป็นเส้น ส่วนพื้นที่นั้นจะต้องมีจุดมากกว่า 4 จุดขึ้นไป และจุดพิกัดเริ่มต้นและจุดพิกัดสุดท้าย จะต้องอยู่ตำแหน่งเดียวกัน ข้อมูลเวกเตอร์ ได้แก่ ถนน แม่น้ำ ลำคลอง ขอบเขตการปกครอง

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

บิดาแห่งการแผนที่สมัยใหม่ชาวเบลเยียม


อับราฮัม ออร์ทีเลียส บิดาแห่งการแผนที่สมัยใหม่ชาวเบลเยียม
อับราฮัม ออร์ทีเลียส (อังกฤษ: Abraham Ortelius) พ.ศ. 2070-2141 นักภูมิศาสตร์และนักทำแผนที่สมัยใหม่คนแรกชาวเบลเยียม เกิดที่เมืองอันท์เวิร์พ ในครอบครัวออร์ทีเลียสที่มีอิทธิพลแห่งเมืองออกสเบิร์ก ออร์ทีเลียสได้เดินทางไปในยุโรปทั่วทั้ง 17 จังหวัดในสมัยนั้น รวมเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และไอร์แลนด์

เขาเริ่มงานทำแผนที่ด้วยการเป็นช่างแกะพิมพ์แผนที่เมื่อพ.ศ. 2090 ขณะเดียวกันก็เป็นนักธุรกิจ ในช่วงแรกการเดินทางดังกล่าวส่วนใหญ่จึงเป็นการเดินทางด้านธุรกิจ อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2103 ออร์ทีเลียสได้เดินทางไปเมืองต่างๆ พร้อมกับเมอร์เคเตอร์ เพื่อนนักทำแผนที่รุ่นอาวุโสชาวเฟลมมิชเชื้อสายเยอรมัน ซึ่งเป็นที่เชื่อว่าออร์ทีเลียสได้เกิดความสนใจด้านงานแผนที่เชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้นจากเมอร์เคเตอร์




แผนที่โลกโดยอับราฮัม ออร์ทีเลียสในปี พ.ศ. 2107 ออร์ทีเลียสได้จัดทำแผนที่โลกชุดแปดแผ่นขึ้น และแผนที่อียิปต์ชุด 2 แผ่นและแผนที่เนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2108 และ 2111 ตามลำดับ รวมทั้งแผนเอเชียที่ชุด 8 แผ่นและแผนที่สเปนในเวลาต่อมา ลุถึงปี พ.ศ. 2144 แผนที่ของออร์ทีเลียสได้ถูกนำไปพิมพ์แพร่หลายในชื่อของผู้อื่นอีกมากถึง 183 ชื่อ

ออร์ทีเลียสยังมีความสนใจรวบรวมสะสมเหรียญกษาปณ์ เหรียญตราและโบราณวัตถุถึงขนาดเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ในปี พ.ศ. 2118 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นนักภูมิศาสตร์ประจำราชสำนักกษัตริย์สเปน ปี พ.ศ. 2139 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากนครอันท์เวิร์พเทียบเท่ารูเบนส์ จิตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค ออร์ทีเลียสเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2141 ศพของเขาได้รับการฝังอย่างสมเกียรติในโบสถ์แห่งนครอันท์เวิร์พ

อับราฮัม ออร์ทีเลียส มีชิวิตอยู่ในสมัยอยุธยาระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐาธิราช) และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ดึงข้อมูลจาก "http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AE%E0%B8%B1%E0%B8%A1_%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%AA".

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model : DEM)

แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model : DEM) มาตราส่วน 1:4,000
แบบจำลองระดับสูงเชิงเลขเป็นแบบจำลองที่ได้จากการวัดความสูงหรือจุดระดับความสูงที่เป็นตัวแทนของภูมิประเทศ มีการจัดเก็บข้อมูล การประมวลผล และการนำเสนอแบบจำลองในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้างแบบจำลองสามมิติ (3D) แบบจำลองสามมิติเสมือนจริง การสร้างแบบจำลองระดับสูงเชิงเลขนั้น เป็นกระบวนการรังวัดความสูงของภูมิประเทศ แล้วนำมาจัดเก็บในคอมพิวเตอร์ในรูปแบบที่สามารถเรียกกลับมาใช้ได้ แบบจำลองระดับสูงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการนำไปสร้างภาพถ่ายออร์โธ เนื่องจากแบบจำลองระดับสูงจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการปรับแก้ความคลาดเคลื่อน ทางตำแหน่งเนื่องจากความสูงต่างของภูมิประเทศ (Relief Displacement) ซึ่งหากแบบจำลองระดับสูงมีความถูกต้องสูงก็จะส่งผลให้ภาพถ่ายออร์โธมีความ ถูกต้องสูงด้วยเช่นกัน โครงการจัดทำแผนที่เพื่อการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและทรัพย์สินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ส่วนเทคโนโลยีการบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ ให้บริการอยู่ในปัจจุบันมีรายละเอียดดังนี้
ตัวอย่างแบบจำลองระดับสูงเชิงเลขแบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model : DEM)
1.จัดเก็บแบบจำลองระดับสูง เช่นเดียวกับแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสีเชิงเลข 1:4.000 ขนาดระวาง 2 x 2 ตารางกิโลเมตร
2.รูปแบบของการจัดเก็บ แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข มี 2 แบบ ดังนี้
◦แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข ในรูปแบบของ Raster หรือกริด มีระยะห่างของกริด 5 เมตร
■จัดเก็บจุดระดับเป็นแถวเป็นแนว (Row, Column)
■ระยะห่างของจุด 5 เมตร (GSD)
■จัดเก็บในรูปแบบของ Raster (Filename.img)
■ขนาดของไฟล์ ประมาณ 2 MB/ระวาง
◦แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข ในรูปแบบของ Vector
■จัดเก็บค่าพิกัดและค่าระดับของจุด (N,E,H)
1.ระยะห่างของจุด 5 เมตร (GSD)
2.จัดเก็บในรูปแบบของ Vector (Filesname.shp)
3.ขนาดของไฟล์ ประมาณ 10 MB/ระวาง
■เส้นชั้นความสูง ซึ่งสร้างจากแบบจำลองระดับสูงแบบจุด
1.ข้อมูลเส้นที่ลากผ่านจุดที่มีระดับสูงเท่ากัน
2.ระยะห่างระหว่างเส้นชั้นความสูง (Contour Interval)
■พื้นที่ราบ (Slop ≤ 35%) 2 เมตร
■พื้นที่สูงชัน (Slop > 35%) 5 เมตร หรือ 10 เมตร
3.จัดเก็บในรูปแบบของ Vector (Filename.shp)
4.ขนาดของไฟล์ ประมาณ 2 MB/ระวาง
3.แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข(DEM) มาตราส่วน 1:4000 มีเกณฑ์ความถูกต้องที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % ดังนี้
◦บริเวณพื้นที่ราบ และบริเวณที่มีความลาดชันไม่เกิน 35% ความถูกต้องอยู่ในเกณฑ์ 2 เมตร หรือดีกว่า
◦บริเวณพื้นที่สูงชัน มีความลาดชันเกิน 35% ความถูกต้องอยู่ในเกณฑ์ 4 เมตร หรือดีกว่า

ที่มา : http://www.lddgis.org/bgst/dem.php

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กระบวนการในการวิเคราะห์ข้อมูลของ GIS

ในระบบ GIS แบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

1. Manual Approach
การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยมือ หรือระบบแบบดั้งเดิม (traditional) เป็นการนำข้อมูลในรูปแบบของแผนที่หรือ ลายเส้นต่างๆ ถ่ายลงบนแผ่นใส หรือกระดาษลอกลายใส โดยแบ่งแผ่นใส 1 แผ่นลอกลายเพียง 1 เรื่อง เช่น แผนที่เส้นแม่น้ำ แผนที่เส้นถนน แผนที่ขอบเขตการปกครอง แล้วนำมาซ้อนทับกันบนโต๊ะฉายแสดงหรือเครื่องฉายแผ่นใส กระบวนการนี้อาจเรียกกันว่า "Overlay Techniques" การซ้อนข้อมูลแผนที่ในแต่ละปัจจัยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ แต่วิธีการนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนแผ่นใสที่จะนำมาซ้อนทับกัน ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถในการวิเคราะห์ด้วยสายตา (Eyes Interpretation) จะกระทำได้ในจำนวนของแผ่นใสที่ค่อนข้างจำกัด ยิ่งจำนวนของแผ่นใสซ้อนกันมากขึ้น ยิ่งทำให้ปริมาณแสงที่สามารถส่องทะลุผ่านแผ่นใสค่อนข้างจำกัดในขณะที่จำนวนแผ่นใสซ้อนมากขึ้น และจำเป็นต้องใช้เนื้อที่และวัสดุในการจัดเก็บข้อมูลค่อนข้างมาก นอกจากนี้การตรึงพิกัดแผนที่แผ่นใสแต่ละแผ่นให้ตรงกันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นข้อจำกัดอีกประการหนึ่ง ถึงแม้จะวาดจุดอ้างอิง (control point) ลงบนแผ่นใสแล้วก็ตาม การทำให้แผ่นใสมากกว่าสองแผ่นขึ้นไปให้มีจุดที่ตรงกันนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายเช่นกัน อาจจะมีผลต่อความผิดพลาดเชิงพื้นที่ หรือตำแหน่งในการวิเคราะห์ข้อมูลได้

2. Computer Assisted Approch
การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ช่วย เป็นการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลแผนที่และข้อมูลสารสนเทศที่จัดเก็บอยู่ในรูปของตัวเลขหรือดิจิตอล (Digital) โดยการเปลี่ยนรูปแบบของข้อมูลแผนที่หรือลายเส้นให้อยู่ในรูปของตัวเลข นั่นหมายถึงกระบวนการวิเคราะห์หรือนำเข้าข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยมือ จาก Manual Approach สามารถนำมาเป็นแผนที่ต้นฉบับสำหรับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์กันทั้งขั้นตอนที่ 1.และ2. แล้วนำข้อมูล Digital ที่ได้รับมาทำการซ้อนทับ (Overlay) กันโดยการนำหลักคณิตศาสตร์ เช่นนำข้อมูลมาบวก ลบ หารหรือคูณกัน เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์เป็นแผนที่ชุดใหม่ และตรรกศาสตร์ เช่นการทำการเปรียบเทียบแผนที่ข้อมูลที่มีอยู่ว่ามีค่าเท่ากันหรือต่างกันจุดใดบ้าง เพื่อหาการพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินบนแผนที่ วิธีการเก็บข้อมูลในรูปแบบเชิงตัวเลขนั้น จึงช่วยลดเนื้อที่ในการเก็บข้อมูลลง และสามารถเรียกมาแสดงหรือทำการวิเคราะห์ซ้ำๆ ได้โดยง่าย รวมทั้งการพิมพ์ผลลัพธ์ได้โดยง่าย และรวดเร็วขึ้น